สาขาวิชาวิสัญญีวิทยา

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
สาขาวิชาวิสัญญีวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
Login
ย้อนกลับ

ประวัติความเป็นมา


ชื่อ  สาขาวิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ที่ตั้ง  ชั้น 3 อาคาร 89 พรรษาสมเด็จย่า โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
           ถนนมิตรภาพ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 40002

 

ประวัติความเป็นมา

เริ่มต้นในปีพ.ศ. 2515 โดยเรียกว่า สาขาวิสัญญีวิทยา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภาควิชาศัลยศาสตร์ เนื่องจากในขณะเริ่มแรกมีเพียงวิสัญญีพยาบาล (เดิมตำแหน่งพยาบาลระงับความรู้สึก) จำนวน 2 ท่าน  และยังไม่มีวิสัญญีแพทย์ จึงยังไม่สามารถตั้งแยกออกมาเป็นภาควิชาฯ ได้ ในระยะแรกให้บริการทางวิสัญญีในห้องผ่าตัด 2 ห้อง มีเครื่องวางยาสลบที่ทันสมัย 2 เครื่อง ของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยขอนแก่นด้านบึงสีฐาน ถนนมะลิวัลย์ หรือที่เรียกตามความนิยมในกลุ่มผู้ปฏิบัติเดิมว่า “Hut hospital” 

ในปี พ.ศ. 2518 ศาสตราจารย์พิเศษนายแพทย์ทองอวบ อุตรวิเชียร  ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ในขณะนั้น ได้แยกสาขาวิสัญญีวิทยาออกจากภาควิชาศัลยศาสตร์ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยท่านเป็นรักษาการหัวหน้าภาควิชาวิสัญญีวิทยาท่านแรก (ปีพ.ศ.2518-2520) ต่อมาในปีพ.ศ. 2520 ได้มีวิสัญญีแพทย์ท่านแรกคืออาจารย์แพทย์หญิงสุวัฒนา สิทธิอมร และได้มีวิสัญญีแพทย์เพิ่มอีก 2 ท่าน ได้แก่ รองศาสตราจารย์นายแพทย์ชำนิ ประเสริฐช่วง และ รองศาสตราจารย์นายแพทย์สรรชัย ธีระพงศ์ภักดี และมีวิสัญญีพยาบาลเพิ่มขึ้นเป็น 11 ท่าน ซึ่งที่ทำการของภาควิชาฯในขณะนั้นอยู่ที่ ตึกโรงพยาบาล   ศรีนครินทร์ ชั้น 5 ประกอบไปด้วยห้องผ่าตัด 3 ห้อง และในปีต่อ ๆมาได้มีวิสัญญีแพทย์เพิ่มขึ้นตามลำดับดังนี้ ในปี พ.ศ. 2524 ได้แก่ รองศาสตราจารย์นายแพทย์เทพกร สาธิตการณี ในปี พ.ศ.2525  ได้แก่ ผศ.พญ.ดีนา อาริยะสัจจพงศ์ และในปี พ.ศ. 2526 ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์สมบูรณ์ เทียนทอง รวมวิสัญญีแพทย์ในขณะนั้นทั้งสิ้น 6 ท่าน และพบปัญหาความขาดแคลนวิสัญญีแพทย์อย่างมาก

ภาควิชาฯ จึงมีเป้าหมายเริ่มต้นเพื่อมุ่งผลิตวิสัญญีแพทย์และวิสัญญีพยาบาล ที่มีคุณธรรม จริยธรรม มีศักยภาพในการพัฒนาตนเอง และการบริการอย่างต่อเนื่อง โดยยึดหลักการ สร้างคน สร้างสังคม พัฒนาวิชาชีพให้ก้าวหน้า เพิ่มคุณค่าสู่สังคมอย่างมั่นคงและยั่งยืน จึงได้ริเริ่มให้มีการเรียนการสอนในลักษณะของการอภิปรายปัญหาผู้ป่วยในประเด็นที่น่าสนใจ ระยะต่อมาจึงเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาการเรียนการสอนเป็นระบบและเป็นสากลมากขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2527 เริ่มมีการสอนวิสัญญีพยาบาล โดยสอนภาคทฤษฎีให้กับพยาบาลจากโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในปีแรกได้สอนให้กับโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ และในปีต่อมาสอนให้กับโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น และในปี พ.ศ. 2529 เริ่มเปิดสอนในรูปแบบโครงการฝึกอบรมหลักสูตรวิสัญญีพยาบาลอย่างเป็นทางการรุ่นที่ 1 มีพยาบาลเข้าฝึกอบรมรุ่นแรกจำนวน 5 คน และนับจากนั้นได้เปิดสอนอย่างต่อเนื่องทุกปีจนถึงปัจจุบันเป็นวิสัญญีพยาบาลรุ่นที่ 33 (ปีพ.ศ. 2561) จำนวนทั้งสิ้น 24 คน

ในส่วนการฝึกอบรมวิสัญญีแพทย์นั้นเริ่มต้น ในปีพ.ศ. 2530 ได้เปิดการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาวิสัญญีวิทยาอย่างเป็นทางการ และเปิดหลักสูตรสอนแพทย์หลังปริญญา เพื่อประกาศนียบัตรบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก สาขาวิสัญญีวิทยา สำหรับแพทย์ประจำบ้านปีที่ 1 และในปีพ.ศ. 2533 ได้เปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูงทางวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก สาขาวิสัญญีวิทยา สำหรับแพทย์ประจำบ้าน ปีที่ 2 และ 3 ซึ่งต่อมาในปีพ.ศ. 2533 ได้มีการรวมหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก และหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูงทางวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก สาขาวิสัญญีวิทยาเข้าด้วยกัน เพื่อให้เป็นหลักสูตรต่อเนื่องหลักสูตรเดียวสำหรับการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน โดยในปี พ.ศ.2533 ได้มีแพทย์ประจำบ้านรุ่นที่ 1 จำนวน 2 คน ได้แก่ รองศาสตราจารย์นายแพทย์อัครวัฒน์ สินเกื้อกูลกิจและแพทย์หญิงอุษณีย์ คลังกำแหงเดช หลังจากนั้นได้มีการพัฒนาหลักสูตรวุฒิบัตรสาขาวิสัญญีวิทยาอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการปรับปรุงหลักสูตรทั้งหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูงสาขาวิสัญญีวิทยาและหลักสูตรฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเพื่อวุฒิบัตรสาขาวิสัญญีวิทยา ทุก 5 ปี โดยปรับปรุงครั้งล่าสุดสำหรับหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูงฯ ในปีการศึกษา 2560 (สภามหาวิทยาลัยอนุมัติวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 การประชุมครั้งที่ 7/2560) และหลักสูตรฝึกอบรมวุฒิบัตร ในปีการศึกษา 2555 จนถึงปัจจุบันภาควิชาฯ ได้ฝึกอบรมหลักสูตรวุฒิบัตรวิสัญญีแพทย์รุ่นที่ 28 จำนวนผู้เรียน 12 คนต่อชั้นปี

ภาควิชาวิสัญญีวิทยา มีพันธกิจสำคัญที่สอดคล้องกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นนอกจากด้านการผลิตบัณฑิตในระดับปริญญาตรีและระดับหลังปริญญาในสาขาวิชาวิสัญญีวิทยา ยังมีพันธกิจด้านอื่น ๆ ได้แก่

  1. ด้านการบริการ โดยให้บริการระงับความรู้สึกแก่ผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดในระดับตติยภูมิขั้นสูง ตามมาตรฐานวิชาชีพทั้งการผ่าตัดทั่วไปและผ่าตัดซับซ้อนเฉพาะสาขา (เช่น เฉพาะทางด้านการผ่าตัดหัวใจ หลอดเลือดใหญ่และทรวงอก การผ่าตัดผู้ป่วยเด็ก และผ่าตัดระบบประสาท เป็นต้น) การบริการวิสัญญีนอกห้องผ่าตัด เช่น ห้องตรวจทางรังสีวินิจฉัยและรังสีรักษาและการปรึกษาบริการทางวิสัญญี เช่น การแทงหลอดเลือดดำส่วนกลาง การช่วยฟื้นชีวิต การใส่ท่อช่วยหายใจลำบาก และการระงับปวด เป็นต้น
  2. ด้านการวิจัย มีการดำเนินการวิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ ในการรักษาพยาบาล และการพัฒนาระบบการให้บริการอย่างต่อเนื่อง และมีความร่วมมือกับสถาบันต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  3. ด้านการให้บริการวิชาการ  โดยคณาจารย์ในภาควิชาฯ ได้เป็นวิทยากรบรรยายความรู้ทางวิชาการทั้งในระดับชาติและนานาชาติ
  4. ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและอื่น ๆ ภาควิชาให้การส่งเสริมกิจกรรมบริการสังคม และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

ในด้านการบริหารภาควิชาฯได้มีผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาฯ ในลำดับถัดมาอีก 7 ท่าน ดังรายนามต่อไปนี้
1. รองศาสตราจารย์นายแพทย์ชำนิ ประเสริฐช่วง (ปี พ.ศ. 2524-2528)
2. รองศาสตราจารย์นายแพทย์สรรชัย ธีระพงศ์ภักดี (ปี พ.ศ. 2528-2536, ปี พ.ศ. 2540-2542)
3. รองศาสตราจารย์นายแพทย์เทพกร สาธิตการมณี (ปี พ.ศ. 2536-2540, ปี พ.ศ. 2542-2550)
4. ศาสตราจารย์นายแพทย์สมบูรณ์    เทียนทอง (ปี พ.ศ. 2550-2552)
5. รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงวราภรณ์ เชื้ออินทร์ (ปี พ.ศ. 2552 -2556)
6. รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงวิมลรัตน์ ศรีราช (ปี พ.ศ. 2556-2561)
7. รองศาสตราจารย์แพทย์หญิง พนารัตน์ รัตนสุวรรณ (ปี พ.ศ. 2561- ปัจจุบัน)  

ปัจจุบันสาขาวิชาวิสัญญีวิทยา มีบุคลากรทั้งสิ้นจำนวน 167 คน ประกอบด้วย วิสัญญีแพทย์  31 คน วิสัญญีพยาบาล 116 คน (อยู่ในระหว่างฝึกอบรมวิสัญญีพยาบาล อีกจำนวน 11 คน) และพนักงานสายสนับสนุน 20 คน (อยู่ระหว่างรับสมัคร 4 คน)  (ข้อมูล ม.ค. 2562)  

 

14 เดือนที่แล้ว
เกี่ยวกับ